9 ภาษีที่ต้องรู้ก่อนเริ่มต้นธุรกิจ

อย่างที่เค้าพูดกัน มีอยู่ 2 อย่างในโลกที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ “ความตาย” และ “ภาษี” แต่ภาษีนั้นก็มีหลายประเภทซะเหลือเกิน แล้วเราจะต้องรู้ภาษีอะไรบ้างตอนเริ่มต้นธุรกิจ

  1. ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้ เก็บจากคนที่มีรายได้ แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

✔ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเก็บจากบุคคลธรรมดา ถ้าเราทำธุรกิจโดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เราต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา โดยผู้ที่ทำธุรกิจในนามบุคคลทำ จะต้องยื่นภาษี 2 ครั้งในแต่ละปี คือภาษีครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด.94 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.90 แตกต่างจากคนที่เป็นพนักงานเงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือน ซึ่งจะยื่นครั้งเดียวเป็นภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.91 แทน

✔ สำหรับคนที่ทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ภาษีที่คุณต้องเสียก็คือภาษีเงินได้นิติบุคคล ใน 1 ปี เราต้องยื่น 2 ครั้ง คือภาษีเงินได้ครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด.51 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.50

  1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็ความหมายตามชื่อของมัน คือจะ “หัก ณ ที่จ่าย” ถ้ามีการจ่ายเงินเกิดขึ้นตามเงื่อนไข ผู้จ่ายเงินก็ต้องหักเงินจำนวนหนึ่งไว้เพื่อนำส่งภาษีให้รัฐ หลักการของภาษีนี้ก็คือเพื่อลดภาระภาษีตอนปลายปีของผู้รับเงินในฐานะผู้มีเงินได้ เพราะเป็นการทยอยๆ เสียภาษีทีละนิดๆ ตามครั้งที่รับเงิน ดีกว่าที่จะมาเจอต้องเสียภาษีเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เดียว (อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ สรรพากรต้องการเพิ่มโอกาสที่จะได้รับเงินภาษีเพิ่ม เพราะว่าหลายคนมักไม่ค่อยกล้าขอคืนภาษีกันซักเท่าไหร่)

✔ อัตราภาษีที่ต้องหักนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเราจ่ายให้ใคร และจ่ายค่าอะไร เราจะยังไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้ แต่รู้ไว้แล้วกันว่าเมื่อเราต้องจ่ายเงินให้กับคนอื่นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เราต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งสรรพากรด้วย และในทางกลับกันเราก็จะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนจากลูกค้าเรา เพราะเค้าก็ต้องหักเงินเราแล้วนำส่งให้สรรพากร

✔ เงินส่วนที่เราหักไป หรือลูกค้าหักจากเรา จะถูกแทนที่ด้วยกระดาษที่เรียกว่า “หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งผู้ถูกหัก ณ ที่จ่ายสามารถนำไปขอคืนจากรัฐตอนสิ้นปี หรือไปลดภาระภาษีได้

✔ ภาษีที่คุณต้องนำส่งนั้น แบ่งเป็นหลายประเภท ถ้าเราจ่ายเงินให้กับบุคคลธรรมดา แบบภาษีที่เราต้องหัก และนำส่งให้รัฐอาจจะเป็น ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจ่ายเงินค่าอะไร หรือถ้าเราจ่ายเงินในนิติบุคคล ภาษีที่เราต้องหัก และนำส่งให้รัฐอาจจะเป็น ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.54 ก็ได้ รายละเอียดไว้ดูกันในบทความต่อๆไป

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่รู้จักกันในนาม VAT ก็คือภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า โดยผู้ขาย ที่จดทะเบียน VAT แล้ว มีหน้าที่จะต้องเรียกเก็บ VAT เพิ่มจากราคาขาย 7% และเรียกว่า “ภาษีขาย” และหากเราไปซื้อสินค้า/บริการที่ผู้ขายมีการคิด VAT ด้วย ส่วนเพิ่มที่จ่ายไปในราคาซื้อนี้เรียกว่า “ภาษีซื้อ”

✔ผู้ที่อยู่ในระบบ VAT ต้องนำส่งภาษีให้กับสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด (เช่น วันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือ +8 วันหากยื่นออนไลน์) โดยคำนวณจากยอดภาษีขาย หักออกด้วยยอดภาษีซื้อ

✔ ถ้าภาษีขาย > ภาษีซื้อ เราก็ต้องจ่ายให้สรรพากรในส่วนที่ยังขาดอยู่ แต่ถ้าภาษีซื้อ > ภาษีขาย เราก็สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จากสรรพากรได้ หรือเก็บไว้ขอคืนหรือหักกลบในเดือนต่อๆไปก็ได้

✔ สำหรับการยื่นภาษีซื้อนี้ มี 2 แบบฟอร์ม ก็คือ ภ.พ.30 (สำหรับการซื้อขายกับผู้ประกอบการในไทย) และ ภ.พ.36 (สำหรับการซื้อขายกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เช่น ค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ค่าบริการซอฟท์แวร์จากต่างประเทศ)

  1. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ ธุรกิจโดยทั่วไปมักจะไม่ค่อยได้ยุ่งกันซักเท่าไหร่ เพราะตามชื่อเลย มันคือการบังคับใช้กับธุรกิจบางธุรกิจเท่านั้น โดยทั่วไปก็เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การธนาคาร หรือโรงรับจำนำ

✔ แต่บางครั้งธุรกิจธรรมดาทั่วๆไป ก็ต้องเสียภาษีตรงนี้ด้วย จากบัญชีลี้ลับที่มีชื่อว่า “เงินให้กู้ยืมกรรมการ” ทำให้เราต้องมีการคิดดอกเบี้ยจากกรรมการและจะกลายเป็นธุรกรรมที่เข้าค่ายการทำธุรกิจอย่างธนาคาร (คือการปล่อยกู้)

✔ สำหรับการยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ เราจะใช้ ภ.ธ.40 ในการยื่นภาษี และต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (หรือ +8 วันหากยื่นออนไลน์)

  1. ภาษีสรรพสามิต

ภาษีสรรพสามิตหรือ “ภาษีบาป” เรียกเก็บจากการขายสินค้า/บริการ บางประเภทที่มีส่วนทำลายสังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น บุหรี่ เหล้า ไพ่ น้ำมัน เชื่อเพลิงต่างๆ อาบอบนวด รถยนต์ยานพาหนะ เป็นต้น หรือสินค้า/บริการที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม สนามกอล์ฟ พรมขนสัตว์ เป็นต้น และต้องแจ้งงบรายเดือนให้กับสรรพสามิตพื้นที่ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

  1. ภาษีบำรุงท้องที่

ภาษีบำรุงท้องที่ หมายถึง ภาษีที่เก็บจากเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็น บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี (เช่น อาคารพาณิชย์ ที่รกร้าง)

✔ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องนําเงินมาชําระค่าภาษีในเดือนเมษายนของทุกปีที่กองคลังของเทศบาลที่ที่ดินตั้งอยู่ ตามอัตราที่แต่ละท้องที่กำหนด โดยต้องยื่นครั้งแรกในเดือนมกราคมของปีนั้นๆโดย 4 ปีจะชำระ 1 ครั้ง หรือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของหรือการใช้ประโยชน์ก็ต้องชำระภายใน 30 วันที่มีการเปลี่ยนแปลง ชำระที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่ตั้งอยู่

  1. ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง

ในกรณีที่เรามีอาคาร หรือที่ดินเพื่อเช่า และมีรายได้จากการเช่า เราจะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 12.5% ต่อปีของค่าเช่าทั้งปี (ค่าเช่าที่คิดทั้งปี เช่น ถ้าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ค่าเช่าทั้งปีคือ 5,000×12 = 60,000 บาท จะเสียภาษี 12.5% = 7,500 บาท) โดยชำระที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่ตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

  1. ภาษีป้าย

ภาษีป้ายคือ ภาษีที่เก็บจากป้าย ซึ่งคิดตามขนาดของป้าย แต่เริ่มต้นที่ 200 บาทสำหรับป้ายที่ไม่ได้รับการยกเว้น ภาษีป้ายจะต้องยื่นที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่ตั้งอยู่ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

  1. อากรแสตมป์

อากรแสตมป์เป็นภาษีที่ต้องเสียเมื่อทำธุรกรรมบางอย่าง (มี 28 อย่าง) เช่น สัญญาเช่าที่ เช่าซื้อ จ้างทำของ หรือการกู้ยืมเงิน เป็นต้น โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ ผู้ให้เช่า หรือผู้ให้กู้ โดยสามารถชำระเป็นอากร (ซื้อได้ที่กรมสรรพากร) หรือเป็นเงินสด (ในตราสารบางประเภท และต้องขออนุมัติด้วย อ.ส.4 ก่อน)

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ธุรกิจเฉพาะ VS เงินได้นิติบุคคล

🚩ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการที่มีรายได้จะต้องยื่นภาษี ซึ่งมีอัตรา เสียภาษีสูงสุด 20% โดยภาษีนิติบุคคลนั้นจะแบ่งเป็น

ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา !!

ดอกเบี้ยบ้าน หรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ สูงสุดปีละ 100,000 บาท ถ้ามีผู้ร่วมกู้ด้วย

บริการรับทำบัญชี #ร้านทอง

บริการรับทำบัญชี #ร้านทอง ให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์โดยตรง บริการบัญชีครบวงจร สนใจติดต่อได้เลยค่ะ